|
แอมป์วัตต์สูง VS. ลำโพงความไวสูง โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ สมมติว่าคุณมีเงินอยู่ 120,000 บาท คุณควรเล่นอินทีเกรทแอมป์วัตต์ปานกลาง 40,000 บาท กับลำโพงกินวัตต์ต่ำ (ความไว 90 dB SPL/w/m ขึ้นไป) ราคา 80,000 บาท หรือกลับกัน เลือกอินทีเกรทแอมป์วัตต์สูงราคา 80,000 บาท กับลำโพงกินวัตต์ (ความไว 86 dB SPL/w/m) ราคา 40,000 บาท จะเลือกอย่างไหนดี ถ้าท้ังแอมป์และลำโพงล้วนมีระดับ มีคุณภาพดีทั้งคู่ ข้อดีของลำโพงกินวัตต์ต่ำ (ความไวสูง 90dB SPL/w/m ขึ้นไป) 1. ไม่ต้องใช้ภาคขยายกำลังสูงมากมายนัก สัก 40 W.RMS/ข้างที่ 8 โอห์มขึ้นไปก็ขับได้สบายในห้องขนาด 4 x 9 x 2.2 เมตร ทำให้ประหยัดค่าแอมป์ได้มาก 2. เสียงจากลำโพงความไวสูงมัก สด ฉับไว เข้มข้น สมจริง ให้การสวิงเสียงจากค่อยสุดไปดังสุดได้เป็นช่วงกว้าง (Dynamic Range กว้าง) เสียงจะออกมาอย่างอิสระ หลุดตู้ ไม่รู้สึกอั้น ตื้อ หรืออยู่ในกรอบ เสียงจะมีชีวิตชีวา (LIVE) ดุจการแสดงสด อยู่ในเหตุการณ์มากกว่า 3. ให้รายละเอียดหยุมหยิมที่ค่อยมากๆ ได้ครบ ช่วงโหมดนตรีหลายๆ ชิ้น สลับซับซ้อนก็ไม่รู้สึกว่ากอดกันเป็นกระจุก หรือฟังมั่วไปหมด หรือเสียงถอยจมแบนติดจอจะได้ยินอะไรบางอย่างที่ลำโพงกินวัตต์ออกเลือนหายไป 4. ใช้ได้ทั้งดูหนัง-ฟังเพลงและกับเพลงทุกสไตล์ (ถ้าลำโพงคุณภาพดีพอ) ข้อเสียของลำโพงความไวสูง 1. ถ้าจะเอาคุณภาพดีจริงๆ ในทุกแง่มุม หนีไม่พ้น ต้องมีราคาสูง (วัสดุอุปกรณ์ต้องถึงจริงๆ) 2. ตัวตู้มักเกะกะใหญ่โตกว่าปกติ และหนัก (ต้องใช้ดอกลำโพง ความไวสูง แม่เหล็กใหญ่มาก) 3. ต้องออกแบบระบบเบสดีๆ ไม่อย่างนั้นเบสจะอู้ก้องเป็นเบสโน้ตตัวเดียว (ONE NOTE BASS) และมักกระพือค้าง ถ้าคุณภาพดอกไม่ถึง ข้อดีของลำโพงกินวัตต์ (ความไวต่ำกว่า 86dB SPL/w/m ที่ 8 โอห์ม) 1. มักใช้ระบบตู้ปิดทำให้เบสลงได้ลึก ถ้าไม่ปิดก็อัดวัสดุซับเสียงจนแน่นเกือบเป็นตู้ปิด 2. เปิดโอกาสให้จูนเพื่อได้บุคลิกเสียงตามที่ต้องการได้ไม่ยาก มักเป็นบุคลิกตามความชื่นชอบของผู้ผลิต 3. มักทนกำลังขับได้สูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะให้ “พลังเสียง” ออกมาได้มากกว่าลำโพงที่ความไวสูงแต่รับกำลังขับได้ต่ำกว่า ตรงนี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า ลำโพงกินวัตต์เปิดได้ดังกว่า 4. มีโอกาสได้เบสอิ่มแน่น ลงลึกโดยตู้ไม่ต้องใหญ่โตมาก ขนาดลำโพงวางหิ้งยังให้เบสได้อิ่มแน่นลึกระดับลำโพงวางพื้นได้ ข้อเสียของลำโพงกินวัตต์ 1. มักเป็นลำโพงระบบแปลกๆ เช่นดอกแบบแผ่นฟิล์ม, อิเล็กโตรสแตติก, ฯลฯ ที่ความไวต่ำ ทำให้ต้องกดความไวของดอกระบบปกติอื่นๆ ในตู้เดียวกันลง ผลคือ ความไวโดยรวมถูกลดลงมาก พร้อมกับมิติเสียงบิดเบี้ยวไปหมด 2. ต้องใช้ภาคขยายกำลังขับสูงๆ อย่างน้อยที่สุด 100W.RMS/ข้างที่ 8 โอห์ม จึงจะพอฟังได้อย่างมีชีวิตชีวา บ่อยๆ ที่อาจต้องการกำลังขับเกือบ 200W.RMS/ข้าง (ที่ 8 โอห์ม) ขึ้นไป เพื่อให้ได้เสียงที่อิ่ม เปิด หลุดตู้ ทำให้ต้องลงทุนกับภาคขยายสูงมาก (เฉียดแสนบาทขึ้นไปถึงนับล้านบาท!) 3. เสียงมักอั้นๆ ตื้อๆ สวิงอยู่ในกรอบ แม้จะใช้ภาคขยายวัตต์สูงแล้วก็ตาม ก็ยังไม่รู้สึกว่า เสียง “หลุด กระโดดออกมา” อย่างอิสระ (คนขายมักอ้างว่า เสียงอบอุ่น หวาน ไม่ก้าวร้าว) 4. ช่วงดนตรีโหม ซับซ้อนหลายๆ ชิ้น มักกอดกันมั่วไปหมด ยิ่งใช้แอมป์วัตต์ไม่ถึงยิ่งฟังออกชัด (สังเกตว่า คนขายไม่กล้าเปิดดนตรีที่ซับซ้อนโหมพร้อมกันหลายๆ ชิ้น) 5. มักมีบุคลิกส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เคยเห็นลำโพงไฮเอนด์ที่กินวัตต์มากๆ แล้วให้เสียงราบเรียบ ใสซื่อ เป็นกลางอย่างแท้จริงเลย ฟังใหม่ๆ อาจ “ติดหู” ดี แต่ฟังนานๆ น่าเบื่อ (เลี่ยน) นักร้องกี่คน เครื่องดนตรีต่างยี่ห้อต่างเกรด กลับฟังคล้ายกันไปหมด 6. เอามาดูหนังไม่ได้เลย แม้จะใช้แอมป์วัตต์สูง เสียงก็ยังไม่หลุด (มีแต่ดัง) กระเด็นออกมาอย่างอิสระ ฟังแล้วอึดอัดมาก 7. มักให้บรรยากาศเสียงที่ขุ่น อับ ทึบ ไม่เปิดโปร่งโล่งทะลุ ไร้ม่านหมอก (ไม่ Transparency) 8. มักมีราคาแพงถึงแพงมาก เพราะต้องใช้ชิ้นส่วนบนแผง วงจรแบ่งเสียงเยอะและสลับซับซ้อนมากเพื่อชดเชยโน่นนี่ (ทำให้สิ้นเปลือง, กินวัตต์) 9. การมีบุคลิกส่วนตัวอย่างเด่นชัด ทำให้หาลำโพงอื่นมาเข้ากับมันได้ยาก เมื่อจัดลำโพงระบบเซอราวด์ 10. การกินวัตต์มาก ก็เพื่อให้ได้ทุ้มลงลึกแม้เป็นลำโพงวางหิ้ง แต่การจะหาซับแอกทีฟมาเข้ากับมันจะยากขึ้นทั้งการจูนให้สอดรับกันก็ยาก 11. มักไม่ค่อยฉับไว เสียงติดหนืด, เฉื่อย ตายอย่างเขียดถ้าเล่นกับเพลงเต้น, กระทุ้งๆ จังหวะใหม่ๆ ที่ต้องการความฉับไว (ส่วนหนึ่งที่ทำลายอรรถรสการดูหนัง) 12. มักมีราคาแพงเหมือนกัน (ไม่ใช่ด้วยคุณภาพดอกลำโพง แต่มักด้วยการใช้ชิ้นส่วนในแผงวงจรแบ่งเสียงเยอะมาก เพราะดอกลำโพงเอาของชาวบ้านมาจับแพะชนแกะ ไม่ได้ทำเอง ออกแบบสั่งทำเอง) ข้อดีของกาารใช้อินทีเกรทแอมป์วัตต์กลางๆ ไม่สูง (40 ~ 50 W.RMS/ข้าง ที่ 8 โอห์ม) 1. เป็นช่องกำลังขับที่การออกแบบทำได้ในราคาไม่สูง สามารถใช้อะไหล่อุปกรณ์สำเร็จรูปชิ้นรวมคุณภาพสูงมาแทนอะไหล่หลายๆ ชิ้นได้ ทำให้ง่ายต่อการออกแบบควบคุมคุณภาพการผลิต ผลคือ คุณภาพเสียงที่ดีได้อย่างน่ามหัศจรรย์ทั้งๆ ที่ราคาก็ไม่สูง 2. ด้วยกำลังขับที่ไม่สูงมาก ทำให้การรั่วกวนกันเองของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าภายในเครื่องมีต่ำกว่าเครื่อง ที่ภาคขยายกำลังขับสูงๆ 3. ราคาถูกกว่ามาก ได้เปรียบทั้งต้นทุน, การขนส่ง, การบรรจุหีบห่อ, ภาษีนำเข้า 4. อาจมีปุ่มปรับเสียงทุ้ม, แหลมมาให้ด้วย พร้อมปุ่มตัดออก (By Pass) น่าจะพอช่วยได้กับเพลงที่บันทึกมาขาดตกบกพร่อง อินทีเกรทแอมป์วัตต์สูงๆ แพงๆ มักตัดฟังก์ชันปรับเสียงออก 5. วันหน้าวันหลังอาจซื้อเพิ่มอีกเครื่อง แล้วขับซ้าย, ขวา แยกเครื่องเลย (MONO BLOCK) ซึ่งให้อะไรหลายๆ อย่างดีกว่าการใช้อินทีเกรทแอมป์ 2CH ตัวถังเดียวกัน แม้จะมีกำลังขับยังสูงกว่าก็ตาม แต่การใช้งานแบบโมโนคู่ อย่างนี้ก็ต้องพิถีพิถัน ทำ “ทุกอย่าง” ทั้งการเชื่อมต่อ, สิ่งแวดล้อมของเครื่องซ้าย, ขวา ให้เหมือนกันมากที่สุดหรือใช้อินทีเกรทแอมป์ 2 เครื่อง ขับลำโพงไบ-ไวร์เป็นไบ-แอมป์ (PASSIVE ใช้ตัวแบ่งเสียงของลำโพงเอง) ได้ด้วย ข้อเสีย ของอินทีเกรทแอมป์วัตต์ต่ำคือ ฟังดังเขย่าห้องให้สะท้านไม่ได้ ข้อดีของอินทีเกรทแอมป์วัตต์สูง (120 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์มขึ้นไป) 1. ให้ความดัง, อิ่ม, แน่น มากกว่าแอมป์วัตต์ต่ำแน่ เสียงจะนิ่ง ไม่แกว่งวอกแวก 2. ให้เสียง “หลุดตู้” แม้เปิดดังและเป็นช่วงโหมดดนตรีหลายๆ ชิ้น 3. ให้เสียงทุ้มได้อวบอิ่มหนักขึ้น ทำให้ลำโพงวางหิ้งมีทุ้มได้อย่างเกินตัวทีเดียว 4. มักหยุดการสั่นค้างของดอกลำโพงได้ดีกว่า 5. ดูหนังได้กระหึ่มกว่า ทรวดทรง, ขนาดของชิ้นดนตรีจะใหญ่ สมจริงกว่า ข้อเสียของอินทีเกรทแอมป์วัตต์สูง มีราคาแพงถึงแพงลิบ (100,000 - 600,000 บาท) ถ้าจะเอาคุณภาพดีจริงๆ สรุป จากการแจกแจงทั้งข้อดี, ข้อเสียของทั้งลำโพงกินวัตต์, ไม่กินวัตต์ อินทีเกรทแอมป์วัตต์ปานกลางกับวัตต์สูง (ที่จริงใช้ได้กับปรี, พาวเวอร์แอมป์แยกชิ้นด้วย) ท่านผู้อ่านก็คงพอจะจับเข้าคู่กันเองได้แล้วว่า ชอบแบบไหน หลักการวิเคราะห์นี้พอจะใช้ได้กับแทบทุกงบประมาณ ไม่ใช่แค่งบรวม 120,000 บาท ดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมีการพัฒนาอยู่เสมอไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะลำโพงที่ถือได้ว่า นับวันดีขึ้นๆ แต่ราคากลับถูกลงๆ ทำให้อัตราส่วนการจัดสรรงบประมาณอาจเปลี่ยนไป ไม่ใช่เฉพาะแต่งบรวมเปลี่ยนไปในแง่ลดลง สุดท้าย ถ้านำไปใช้กับระบบเสียง PA ไม่ว่าในร่มหรือกลางแจ้ง เงื่อนไขจะเปลี่ยนไป ต้องทั้งลงทุนกับแอมป์วัตต์สูง และลำโพงที่ไม่กินวัตต์ด้วย www.maitreeav.com |